Toxic perfectionism พิษร้ายของความสมบูรณ์แบบ

หลายคนคงได้ยินคำว่า Perfectionist หรือ คนติดความสมบูรณ์แบบ มาบ้าง และก็คิดว่าคนเหล่านี้ก็คงเครียดเนอะ ต้องทำทุกอย่างให้เพรียบพร้อมไปหมด ฉันไม่ใช่แบบนั้นหรอก ฉันเห็นโลกในแบบที่เป็น ใช่…คุณอาจจะเป็นคนปกติทั่วไป

แล้ว…คนรอบๆตัวคุณล่ะ เขาเป็นคนสมบูรณ์แบบไหม? คุณเคยทำงาน หรือ มีปฎิสัมพันธ์กับเหล่า Perfectionist บ้างไหมล่ะ เพราะถ้าคุณเคยย่างกรายผ่านเข้าไป คุณอาจจะเริ่มสับสนในมาตรฐานการใช้ชีวิตของตัวเอง เพราะ คนสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) ไม่ใช่แค่คนที่ต้องการประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด (High Achiever) แต่มันมีอะไรที่มากกว่านั้น ที่พอนึกถึงแล้วคุณจะเริ่มตะหงิดๆ เพราะบางทีคนที่เป็น perfectionist เขาก็ไม่รู้ตัวเองหรอก คนรอบข้างอาจจะรู้ก่อนก็ได้นะ

1) เขาจะไม่ได้มองเห็นจุดดีของคุณ เท่าที่เขามองเห็นจุดด้อย (Highly Critical) คือ มันจะเป็นอารมณ์แบบ ไม่ใช่เพราะเขาเพ่งเล็งคุณนะ แต่เขาอ่ะเพ่งเล็งตัวเองที่ต้อง perfect แต่ถ้างานนั้นอยู่ภายใต้เขา มันเลยควรจะต้องไร้ตำหนิด้วย คนภายใต้ก็ว้าวุ่นเลยสิคราวนี้ เพราะหลายครั้งชาว perfectionist ก็จะให้แก้ไปเรื่อยๆ จุดเล็กจุดน้อยก็ว่าไป ควรจะ…อย่างนั้น ควรจะ…อย่างนี้ ความดีเท่ามด ความผิดเท่าบ้าน ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่เขาเห็นจุดติ เขาจะด่าว่าผู้อื่น บางคนไม่ด่าว่าเลย (แต่เก็บไว้ในใจ to be judgmental) ซึ่งถ้าเหตุการณ์นี้เกิดกับเจ้าตัวคน perfectionist เองแล้ว เป็นที่แน่นอนว่า ในจิตใจเขา ต้องด่าว่าตัวเองอยู่แน่ๆ

2) เขามีมาตรฐานเริ่มต้นที่สูงมากกกเกินความเป็นจริง จนถึงขั้นว่าเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ (Unrealistic Standards) และมุ่งเน้นไปที่ผลมากเกินไป (Focus only on results) ซึ่งมันทำให้ดูเป็นเป้าหมายที่ไม่สมเหตุสมผล คือ คนทั่วไปก็อาจจะมีมาตรฐานที่สูงได้เนอะ อาจจะเป็น step ไป มีไหล่ทางให้พัก ชื่นชมความสำเร็จระหว่างก้าวเดิน เพราะการเรียนรู้ระหว่างทางนั้นสำคัญ แต่อันนี้ไม่ใช่จ๊ะ จะเป็นแนวมาถึงปุ๊ปก็คือ ต้องเป้าระดับสูงสุดไปเลย ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ต้อง Nobel prize ถ้าเป็นนักแสดงก็ต้องระดับ Oscar ถ้าได้แค่สุพรรณหงส์ ก็คือ เบสิคมาก นั่นทำให้ perfectionist ค่อนข้างชินชา กับ ความสำเร็จ ไม่สนใจและชื่นชมคนอื่น ไม่ยินดียินร้าย เหมือนสิ่งที่ทำสำเร็จไป แม้มันจะพิเศษยังไง ชาว perfectionist ก็จะมีแนวคิดที่ว่า…มันก็ปกติป่ะ และด้วยความมี mindset ที่ว่า ได้ทั้งหมด หรือ ไม่ได้เลย (all or nothing) นั่นส่งผลถึงการกระทำในบางครั้ง ที่จะพยายามทำทุกอย่าง อัดงาน ภาระกิจมากมาย จนมากเกินไป ทำให้ยากโดยใช่เหตุ บ้างก็เน้นถึกแต่ไม่เน้นประสิทธิภาพ หรือ ถึงแม้งานจะทำได้ดี แต่คือ มันดีไม่พอ (ในความคิดเขา) เกือบเพอร์เฟคก็คือล้มเหลว (Almost perfect is seen as a failure.) เราอาจจะคิดว่า เขาโหดร้ายนะ ตั้งมาตรฐานแบบนี้ ไม่ยุติธรรมเลย ชาวบ้านชาวช่องเครียดกันหมด เอาจริงๆนะ ที่มันสูงเพราะเขาตั้งให้ตัวเขาเอง แต่คุณไปอยู่ภายใต้เขา คุณก็ต้องตามเขาล่ะ

3) เขาจะกลัวความล้มเหลวมาก (Fear of failure) มากจนถ้าเขารู้ว่าจะล้มเหลว เขาจะผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ หรือไม่ทำมันซะเลย (Procrastination) มันอาจจะดูประหลาดนิสนึงว่า ทำไมคนที่ชอบความสมบูรณ์แบบถึงจะผลัดสิ่งที่ควรต้องทำไปเรื่อยๆได้ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันทำให้เขาระมัดระวังตัว ระแวดระวังทุกสิ่งอย่าง หลีกเลี่ยงทุกอย่างที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงกับตัวเอง (hypervigilant) อาจจะปัดงานไปที่ผู้อื่นบ้าง เป็นกลไกป้องกันตัว (defensive mechanism) อีกแบบนึง โดยเฉพาะงานที่จะทำให้เขาดูเป็นคนที่ล้มเหลวในงานนั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานยาก ใหญ่และใหม่ ที่มีความเสี่ยงพลาดสูง ในความคิดเขาก็คือ…ถ้าเขาทำแล้วผิดพลาดครั้งใหญ่ขึ้นมาล่ะ มันจะเป็นยังไง (catastrophic thinking) แค่คิด…ชาว perfectionist ก็หวาดกลัวไปถึงก้นบึ้งหัวใจแล้ว แล้วจะทำยังไงได้ล่ะ ก็เลื่อนไปเรื่อยๆสิครัช แล้วอาจจะไปใช้เวลายาวนานกับขั้นตอนการวางแผนงานต่างๆ เตรียมการนู้นนี่ในภาพกว้างใหญ่ (planning phase – grand vision) ที่มีแต่จะยืดเยื้อไม่จบไม่สิ้น แต่ทำจริงนั้น (actual task) เสร็จในนาทีสุดท้ายด้วยแผนสั้นๆลวกๆ (output – short vision)

ภาพอ้างอิงจาก https://goldtherapynyc.com/perfectionism-your-questions-answered/ เป็นภาพที่ทำให้เห็นภาพรวมของ toxic perfectionism ได้ดีทีเดียว ในลิงก์มีบทความด้วย แต่เป็นภาษาอังกฤษ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้

Reference:

https://www.verywellmind.com/signs-you-may-be-a-perfectionist-3145233

https://theskillcollective.com/blog/perfectionism-procrastination

https://clubsister.com/lifestyle/10-checklists-about-toxic-perfectionism

Leave a comment